เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ศิลปแบบร่วมสมัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๒๕.๔๕ เมตร ความสูง ๔๕ เมตร โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับผิวด้วยหินอ่อนหยกขาว “สุริยกันต”(สุริยกันตะ) จากพม่า น้ำหนักเฉพาะหินอ่อน หยกขาวประมาณ ๑๓๕ ตัน หรือประมาณ ๒,๕๐๐ ตารางเมตร ประดิษฐาน ณ บนยอดเขานาคเกิด ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต

ซึ่งต่อมาก็ได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า “พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี” พร้อมตราตั้งให้เป็นพระพุทธรูปประจำเมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๑ โดยนายสุพร วนิชกุล ประธานดำเนินการจัดสร้างเป็นผู้รับนมัสการสนองพระเดชพระคุณ....

วัตถุประสงค์ของการจัดสร้าง

  • เป็นพุทธบูชาเป็นพุทธานุสติ เป็นบุญกิริยาวัตถุเป็นที่ตั้งแห่งการทำบุญ เป็นตำนานของแผ่นดิน เป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นเครื่องมือสื่อโยงชนิดพิเศษ เพื่อเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์ให้แพร่หลายครองใจคนและครองสังคม

  • เพื่อให้เกิดบุญราศี น้อมเกล้าถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลย เดชมหาราช ผู้ทรงเป็นพระมิ่งขวัญอันประเสริฐของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า

  • เพื่อจรรโลงจิตใจแก่ผู้พบเห็นตลอดจนผู้มีโอกาสสักการะให้เข้าถึง แก่นพระศาสนา โดยการจัดเป็นพุทธอุทยานรวบรวมธรรมะในชีวิตประจำวัน ไว้เป็นหมวดหมู่แทรกเสริมในบริเวณปริมณฑลรอบฐานองค์พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาค คีรี พร้อมทั้งจัดพรรณไม้ในพุทธประวัติเป็นพุทธอุทยาน ทั้งนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

  • เพื่อเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมพัฒนาจิตเจริญสมถะ วิปัสสนากัมมัฏฐานให้เกิดปัญญาและสันติสุขของประชาชน ให้ยึดมั่นในการกระทำความดีละเว้นความชั่ว มีจิตใจที่ผ่องใสอันจะเป็นพื้นฐาน ในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

  • เพื่อเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติเป็นทุนทางสังคมที่มีคุณค่าเป็นความ ภาคภูมิใจของผู้ที่ส่วนร่วมสร้างและผู้มากราบไหว้บูชา เป็นหนทางของผู้ปฏิบัติบูชานำไปสู่ประตูแห่งความเป็นอิสระจากทุกข์ คือ พระนิพพานในที่สุด

  • เพื่อจัดตั้งเป็นมูลนิธิพระพุทธมิ่งมงคลศรัทธา ๔๕ พัฒนาจิต เพื่อสันติสุขของชีวิตและครอบครัว ดำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์