พระใหญ่เมืองภูเก็ต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปแบบร่วมสมัย ขนาดหน้าตักกว้าง 25.45 เมตร ความสูง 45 เมตร โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับผิวด้วยหินอ่อนหยกขาว “สุริยกันต”(สุริยกันตะ) จากพม่า น้ำหนักเฉพาะหินอ่อน หยกขาวประมาณ 135 ตัน หรือประมาณ 2,500 ตารางเมตร ประดิษฐาน ณ บนยอดเขานาคเกิด ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
มูลนิธิพระพุทธมิ่งมงคล ศรัทธา ๔๕ พระใหญ่เมืองภูเก็ต, เรือนจำจังหวัดภูเก็ต ได้จัดกิจกรรมบรรยายธรรมะหัวข้อ “ยสะกุลบุตร และสหาย บรรลุอรหันต์” ปฏิบัติธรรม 7 นาทีสร้างสุข แผ่เมตตา ให้เจ้ากรรมนายเวร ทำดีเพื่อพ่อทำดีเพื่อแม่ ให้กับผู้ต้องขังชาย 2,000 คน และผู้ต้องขังหญิง 200 คน.
29 มกราคม 2564 ฝ่ายวิชาการมูลนิธิพระพุทธมิ่งมงคล ศรัทธา ๔๕ ไปร่วมการสนทนากลุ่ม เพื่อวิทยานิพนธ์ เรื่อง “แนวทางการพัฒนาปัจจัยด้านมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในจังหวัดภูเก็ต” ของนายธิบดิ์ เซซัง นักศึกษาปริญญาโท คณะการจัดการการท่องเที่ยวภาคพิเศษ ส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ณ อาคารรัษฎา วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต โดยตัวแทนพระใหญ่ได้เสนอ 3 ประเด็น คือ 1.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลกหลังโควิด(ซึ่งจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง) 2.การปรับตัวของภูเก็ตหลังโควิด(ซึ่งรัฐบาลกำลังพิจารณาแนวทางการยกระดับภูเก็ตเป็นเมืองแห่งสุขภาวะนานาชาติ- Marina Hub และ Medical Hub) 3.พระใหญ่เมืองภูเก็ตในฐานะหมุดหมายการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอันดับหนึ่ง(จะเติมเต็มแนวทางการยกระดับเป็นเมืองนานาชาติ ด้วยกิจกรรมสันทนาการด้านสุขภาพจิตใจ นอกเหนือจากการบริการด้านสุขภาพทางกายของภาคธุรกิจ อันเป็นการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมบนพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวตะวันออก) โดยได้มอบวารสารแสงพระธรรม #9 ซึ่งมีบทสัมภาษณ์ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในช่วงวิกฤตโควิด-19 แก่ผู้ร่วมประชุมทุกคน
มีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พิพิธภัณฑ์บ้านชินประชา สำนักวัฒนธรรมจังหวัด พิพิธภัณฑ์ภูเก็ตไทยหัว สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา สภาวัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต ประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต ศาลเจ้ากะทู้ และกองทุนฟื้นฟูจังหวัดภูเก็ต
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2563 มูลนิธิพระพุทธมิ่งมงคล ศรัทธา ๔๕ ร่วมกับวัดกิตติสังฆาราม(วัดะตะ) จัดบรรพชาอุปสมบทประจำปี 2563 จำนวน 15 รูป พระครูวิสุทธิ์กิตยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดกิตติสังฆาราม เจ้าคณะตำบลฉลอง เป็นพระอุปัชฌาย์ ปลงผมนาคโดยพระสงฆ์และญาติโยม ณ ลานเวียนเทียน พุทธอุทยานยอดเขานาคเกิด(พระใหญ่เมืองภูเก็ต) แล้วเคลื่อนขบวนจากเขานาคเกิดไปทำพิธีบวช ณ พระอุโบสถวัดกิตติสังฆาราม ทั้งนี้ พระนวกะจะพำนักเพื่อศึกษาและปฏิบัติพระธรรมวินัย ณ ที่พักสงฆ์พุทธอุทยานยอดเขานาคเกิดจนถึงการลาสิกขา วันที่ 12 ธันวาคม 2563
วันลอยกระทงขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 ปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2563 อันเป็นวันออกพรรษาของชาวพม่าและมอญซึ่งมีศรัทธาเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา วันนี้พุทธอุทยานยอดเขานาคเกิดจึงหนาแน่นไปด้วยเพื่อนชาวพม่าและมอญที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตแต่งกายสวยงามขึ้นมาสักการะพระใหญ่เมืองภูเก็ตทำบุญตามประเพณีเช่นทุกปีที่ผ่านมา
อนึ่ง ประเพณีลอยกระทงได้สืบทอดปฏิบัติกันมาในหมู่ประเทศภูมิภาคอุษาคเนย์อันได้แก่ ลาว พม่า และกัมพูชาด้วย ทั้งนี้ อินเดียซึ่งก็มีประเพณีลอยกระทงมาช้านานและอาจเป็นต้นทางส่งผ่านมายังอุษาคเนย์ของเรา แตกต่างกันที่คติความเชื่อและกำหนดเวลา